วันเสาร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2553

นโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปี 2553

รมว.ศธ.เน้น 25 นโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติในปี 2553 เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้นโยบายในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ ครั้งที่ ๖/๒๕๕๒ โดยมี ผอ.สพท.๑๘๕ เขต ประธานศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา ๔๑ ศูนย์ทั่วประเทศ ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เข้าร่วมรับฟังนโยบาย ซึ่ง รมว.ศธ.ได้เน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยยึดกรอบแนวทางปฏิรูปการศึกษารอบสองเป็นหลัก และให้ปี ๒๕๕๓ เป็นปีที่มีการผลักดัน ๒๕ นโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ให้ ผอ.สพท.และประธานศูนย์ประสานงานมัธยมฯ ประชุมพร้อมกันทุกครั้ง รมว.ศธ.กล่าวว่า ในการประชุมสัมมนา ผอ.สพท.ทั่วประเทศ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) แจ้งให้ประธานศูนย์ประสานงานการจัดการมัธยมศึกษา ๔๑ ศูนย์ทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุมพร้อมกันทุกครั้ง เน้นการทำงานแบบบูรณาการ ถัดจากนี้ไปงานของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในส่วนภูมิภาค จะเน้นการทำงานแบบบูรณาการ โดยถือกรอบการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.๒๕๕๒-๒๕๖๑) เป็นกรอบใหญ่ที่สุดในการทำงาน ถัดลงมาคือนโยบายของรัฐบาล นโยบายของ ศธ. โดยจะมีแผนการศึกษา ๓ ระดับ คือ แผนการศึกษาชาติ แผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด และแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด ที่ทุกท่านจะต้องศึกษาทำความเข้าใจ และเพื่อให้การกำกับติดตามแผนให้เดินไปข้างหน้า ขอให้ ผอ.สพท.เขต ๑ ทั่วประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบกำกับแผนให้เดินไปข้างหน้า ทั้งการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย การศึกษาเอกชน และอุดมศึกษา โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นศึกษาธิการจังหวัด หรือเป็นตัวแทนของ ศธ.ของทุกหน่วยงานในจังหวัด เหตุที่มีความจำเป็นจะต้องรื้อฟื้นผู้รับผิดชอบการศึกษาในลักษณะคล้ายศึกษาธิการจังหวัดขึ้นมานี้ เพื่อให้มีผู้รับผิดชอบงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัด มิฉะนั้นจะทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นลำบาก เพราะไม่ทราบว่าใครเป็นเบอร์ ๑ เบอร์ ๒ หรือรัฐมนตรีจะสั่งการแต่ละครั้งต้องสั่งทีละแท่ง ดังนั้นในอนาคตกระบวนการคัดกรอง ผอ.สพท.เขต ๑ จะต้องมีความเป็นพิเศษเพิ่มเติมด้วย การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด เคยได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ที่ผ่านมา ผอ.สพท.บางเขตพื้นที่การศึกษาไม่เข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง แต่มอบเจ้าหน้าที่ไปเข้าร่วมประชุมแทน ดังนั้นจึงขอมอบเป็นนโยบายว่า ต่อไปนี้การประชุมร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในจังหวัด ผอ.สพท.ต้องเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง และทำงานในเชิงรุกมากขึ้นทุกเขตพื้นที่ และขณะนี้แผนจังหวัดได้รับการอนุมัติแล้ว ทั้งเป้าหมายร่วม ๗๐% และเป้าหมายเฉพาะจังหวัด ๓๐% ทุกคนต้องศึกษาตัวชี้วัดของเป้าหมายให้เข้าใจอย่างถ่องแท้และครบถ้วน เพื่อส่วนกลางจะได้ตรวจสอบผลสัมฤทธิ์การศึกษาในจังหวัดได้ การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด ผู้ตรวจราชการ ศธ.จะทำหน้าที่ ๒ ส่วน ทั้งในฐานะผู้ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน และในฐานะผู้บริหารแผนพัฒนาการศึกษากลุ่มจังหวัด ซึ่งจะต้องรับผิดชอบผลสัมฤทธิ์ของกลุ่มจังหวัดซึ่งมีตัวชี้วัดชัดเจน และเมื่อทำงานไปแล้วระยะเวลาหนึ่ง หากมีความจำเป็นก็จะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ปี ๒๕๕๓ เน้นผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ในปี ๒๕๕๓ จะเป็นปีแห่งการมุ่งเน้นการผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในส่วนของรัฐมนตรีจะให้ความสำคัญกับการตรวจราชการหรือติดตามนโยบายในทางปฏิบัติให้เกิดผลในแต่ละพื้นที่มากขึ้น และเขตพื้นที่การศึกษาจะต้องนำสิ่งเหล่านี้ไปแจ้งให้ผู้ร่วมงานและผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดได้รับทราบ และปฏิบัติตามนโยบายที่ได้สั่งการไปแล้วทุกนโยบาย เพราะถัดจากนี้ไปจะมีการติดตามความก้าวหน้าการทำงานและผลสัมฤทธิ์ทั้งหมดที่จะตามมา ใช้มาตรการทางการบริหารมากขึ้น รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ขอทำความเข้าใจในเบื้องต้นว่า หากเขตพื้นที่การศึกษาใดบกพร่อง ไร้ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หรือพบความไม่โปร่งใส ศธ.จะใช้มาตรการทางการบริหารมากขึ้น นโยบาย ๒๕ เรื่องที่มอบไปแล้วต้องเดินหน้าทุกเรื่อง ในปี ๒๕๕๓ เป็นปีแห่งการเดินหน้าโครงการต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ ขอให้ความสำคัญกับทุกโครงการ ทั้งนโยบายที่ได้ดำเนินการไปแล้ว นโยบายที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือนโยบายใหม่ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๕๓ ดังนั้นเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ จึงขอทบทวนให้ผู้บริหารได้รับทราบนโยบายต่างๆ ทั้ง ๒๕ เรื่อง ดังนี้ ๑) การปฏิรูปการศึกษารอบสอง ที่ถือเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา คือ "๓ เสา ๓ ดี ๔ ใหม่" (๓ ดี/3D คือ Decency-Democracy-Drug-Free ส่วน ๔ ใหม่คือ สร้างคนไทยหรือผู้เรียนยุคใหม่-ครูยุคใหม่-ระบบบริหารจัดการแบบใหม่-แหล่งเรียนรู้หรือสถานศึกษายุคใหม่) ๒) นโยบาย ๕ ฟรี คือเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ-ติวฟรี (Tutor Channel)-นมโรงเรียนฟรี-อาหารกลางวันฟรี-ผู้พิการเรียนฟรีจนถึงปริญญาตรี ๓) การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอให้ให้ความสนใจเป็นพิเศษที่ ศธ.จะเน้นการให้เด็กคิดวิเคราะห์มากขึ้นมากกว่าการท่องจำ มีการปรับหลักสูตรใหม่ที่จะลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาบทเรียนที่มีมากถึง ๓๐% ลง เพื่อให้เด็กเรียนหลักวิชาเท่าเดิม ไม่ต้องเรียนซ้ำซ้อนหรือจมอยู่แต่ในห้องเรียน แต่จะนำเวลาไปเรียนกิจกรรมนอกห้องเรียนอื่นๆ เช่น ศิลปะ กีฬา มากขึ้น นอกจากนี้เพื่อให้เด็กที่จบออกไปมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คือ คุณลักษณะ ๓ ดี หรือการมีหัวใจทางศิลปะ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่เด็กไทยยังขาดอยู่ให้มากยิ่งขึ้น โดย สพฐ. กำลังคิดเป็นข้อๆ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่จะปลูกฝังเด็กไทยที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในอนาคต สำหรับตัวชี้วัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ๑๒ ปีที่ในอดีตมีมากถึง ๓,๐๐๐ กว่าตัวนั้น ก็จะปรับลดเหลือเพียง ๒,๑๖๕ ตัวชี้วัด ซึ่งจะสะดวก ตรงเป้า จึงถือว่าเรื่องนี้เป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศ ๔) โรงเรียนดี ๓ ระดับ คือ โรงเรียนดีระดับสากล ๕๐๐ โรง ระดับอำเภอ ๒,๕๐๐ โรง และระดับตำบล ๗,๐๐๐ โรงทั่วประเทศ ๕) การสอนทางไกลผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล ปีนี้เริ่มแล้ว ๔,๐๐๐ โรง ส่วนปี ๒๕๕๓ จะขยายเพิ่มอีก ๕,๐๐๐ โรง จึงขอให้ติดตามตรวจสอบดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจะถือโอกาสนี้ไปตรวจเยี่ยมด้วย เพราะหวังว่าผลสัมฤทธิ์เด็กจะดีขึ้นเมื่อดำเนินการโครงการนี้ ๖) โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร จะสร้างเรือนนอนให้โรงเรียนพื้นที่สูง หรือพื้นที่ที่เด็กต้องมาพักค้าง เพื่อสวัสดิภาพของเด็กที่อยู่ห่างไกลโรงเรียนสามารถมาพักค้างที่โรงเรียนได้ ๗) โรงเรียนขนาดเล็ก ครม.ได้อนุมัติให้เพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้โรงเรียนขนาดเล็กไปแล้ว เพราะ สพฐ. ได้ทำการวิจัยแล้วพบว่า เงินอุดหนุนรายหัวมีนัยยะกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก โดยระดับประถมฯ จะได้รับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวจาก ๑,๙๐๐ บาท เป็น ๒,๔๐๐ บาทต่อคนต่อปี ระดับมัธยมฯ ตอนต้น จาก ๓,๕๐๐ บาท เป็น ๔,๕๐๐ บาท และมัธยมฯ ตอนปลาย จาก ๓,๘๐๐ บาท เป็น ๔,๘๐๐ บาท ๘) ห้องสมุด ๓ ดี คือ หนังสือดี-บรรยากาศดี-บรรณารักษ์ดี โดยห้องสมุด ๓ ดีจะเน้นซอฟต์แวร์มากกว่าฮาร์ดแวร์ มีการกำหนดเกณฑ์การจัดซื้อหนังสือ ราคาหน้าปกที่จัดซื้อกับความเป็นจริง และหนังสือดีที่ควรจัดซื้อเข้าห้องสมุด โดยเฉพาะหนังสือดีเด่น ๖ เล่มที่เด็กและเยาวชนไทยควรอ่าน ตามที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาพระราชทานรายชื่อ คือ พระอภัยมณี รามเกียรติ์ นิทานชาดก อิเหนา พระราชพิธีสิบสองเดือน และกาพย์เห่เรือเจ้าฟ้ากุ้ง (เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร) ๙) ห้องเรียนวิทยาศาสตร์อัจฉริยะทวิภาคี ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สพฐ.กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ขณะนี้มีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ประมาณ ๑๐๐ ห้อง แต่ตนให้เพิ่มอีก ๑๐๐ ห้อง เป็น ๒๐๗ ห้องเรียน โดยขอให้เขตพื้นที่การศึกษาติดตามผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้วย ๑๐) กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอุดมศึกษา (Thai Qualifications Framework for Higher Education in Thailand : TQF) ซึ่งได้ลงนามประกาศไปแล้วว่า ต่อไปนี้หากสถาบันอุดมศึกษาจะเปิดสอนสาขาวิชาใด จะต้องผ่านกรอบมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยสถาบันอุดมศึกษาจะต้องจัดทำตามกรอบนี้ให้เสร็จภายใน ๓ ปี ซึ่ง ผอ.สพท.เขต ๑ อยู่ในฐานะที่จะต้องประสานกับทุกหน่วยงานของ ศธ. รวมทั้งเรื่องนี้ด้วย ๑๑) กรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษา (Thai Qualifications Framework for Vocational Education) ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน และเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม คือ คุณภาพการผลิตนักศึกษาให้ได้ตามกรอบนี้ ๑๒) คุณวุฒิวิชาชีพไทย (Thai Vocational Qualifications : TVQ) เป็นระบบการรับรองความรู้ความสามารถ โดยออกให้เป็นคุณวุฒิแก่ผู้ประกอบอาชีพที่ผ่านการประเมินหน่วยสมรรถนะได้จำนวนหนึ่งตามที่กำหนดไว้ในแต่ละระดับคุณวุฒิ โดยในปี ๒๕๕๓ จะมีผลบังคับใช้คู่ไปกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาการ ซึ่งการกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพปัจจุบันแต่ละสาขาจะระบุว่าจะได้มาซึ่งมาตรฐานอย่างไร ปัจจุบันมีเฉพาะคุณวุฒิวิชาการ คือ ป.๖ ม.๓ ม.๖ ปวช. ปวส. และปริญญา แต่คุณวุฒิวิชาชีพยังไม่มี ต่อไปในอนาคต เมื่อเอกชนยอมรับคุณวุฒิวิชาชีพมากขึ้น จะนำไปสู่การพัฒนาในลักษณะการจ่ายค่าตอบแทน เช่น การรับคนเข้าทำงานโดยพิจารณาจากความสามารถ ซึ่งจะมีประโยชน์อีกหลายด้าน โดยเฉพาะในบางสาขาวิชาที่มีคนเก่งระดับโลก คือ เจียระไนเพชร พลอย เมื่อคนเหล่านี้ซึ่งจบการศึกษาภาคบังคับไปเทียบคุณวุฒิวิชาการกับแรงงานต่างประเทศ ก็จะได้เพียงคุณวุฒิวิชาการระดับ ม.๓ เท่านั้น แต่เมื่อเทียบคุณวุฒิวิชาชีพ อาจจะอยู่ในระดับ ๖ คือระดับปริญญาโท ในขณะที่บางคนอาจเทียบเท่าระดับ ๗ คือ ปริญญาเอก ซึ่งจะช่วยให้คนนั้นได้รับการยอมรับจากมาตรฐานโลกด้วย กล่าวโดยสรุปคือ เป็นการตรวจสมรรถนะจากการทำงานจริงว่ามีคุณภาพหรือไม่ ๑๓) การจัดตั้งสถาบันการอาชีวศึกษา ในปี ๒๕๕๓ จะมีการจัดรวมสถานศึกษาอาชีวศึกษา ๔๑๕ แห่งเป็นสถาบันการอาชีวศึกษา ๑๙ แห่ง เพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน และเปิดสอนถึงระดับปริญญาตรีเฉพาะในสถาบันที่มีความพร้อม โดยเน้นปฏิบัติ ๗๐-๗๕% ต่างไปจากมหาวิทยาลัยที่เน้นวิชาการมากถึง ๗๐-๗๕% ๑๔) V-Net คือข้อสอบของอาชีวศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเริ่มในปี ๒๕๕๓ ๑๕) UniNet หรือเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เป็นโครงการ ๓ ปี (๒๕๕๓–๒๕๕๕) ใช้ระบบใยแก้วนำแสงไปยังมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สถาบันการอาชีวศึกษา ๔๑๕ แห่ง และเขตพื้นที่การศึกษา ๑๘๕ แห่ง ศูนย์การเรียนรู้ต่างๆ รวมทั้งโรงเรียนดีระดับอำเภอและระดับตำบลอีก ๓,๐๐๐ โรง ๑๖) Education Hub หรือการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาค ซึ่งมีหลายเขตพื้นที่การศึกษาเป็นเขตเป้าหมาย เรามีงบประมาณ ๑๔ โรงที่ได้รับเพื่อไปพัฒนาหอพักให้นักเรียนต่างชาติเข้ามาพัก ดังนั้นหลักของการเป็นศูนย์กลางการศึกษาในภูมิภาคคือ ต้องเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันมี ๓๐,๐๐๐ คน แต่ภายใน ๕ ปีตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มเป็น ๑๐๐,๐๐๐ คน โดยเฉพาะในจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งจะเป็นจุดรับนักศึกษาจากลาว กัมพูชา จีน หรือเวียดนามมากขึ้น ข้อดีของการเป็น Education Hub คือจะช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ รวมทั้งความจงรักภักดีต่อประเทศชาติของเราอย่างประมูลค่าไม่ได้ในอนาคต ๑๗) การอบรมพัฒนาครูทั้งระบบ ๕๒๐,๐๐๐ คน ทั้งครู สพฐ.และอาชีวศึกษา โดยผู้บริหาร-รองผู้บริหารระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาจะได้รับการพัฒนาให้เสร็จสิ้นครบถ้วนทั้งหมดภายในปี ๒๕๕๓ ส่วนครูจะได้รับการอบรมพัฒนาให้ครบภายใน ๓ ปี การอบรมพัฒนาจะเน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง สพฐ.-สสวท.-เครือข่ายมหาวิทยาลัย ในการจัดทำหลักสูตร โดยใช้ระบบ e-Training เข้ามาช่วย ๑๘) ครูพันธุ์ใหม่ จะผลิตโครงการครูพันธุ์ใหม่ ๓๐,๐๐๐ คนภายในระยะเวลา ๕ ปี เพื่อทดแทนอัตราเกษียณอายุราชการ ส่วนอีก ๗๐% จะใช้อัตราการบรรจุปกติ ๑๙) การปรับระบบการพัฒนาบุคลากรและระบบการเข้าสู่ตำแหน่งของ ศธ. เป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวพันกับเขตพื้นที่การศึกษา ต่อไปนี้กระบวนการอบรมพัฒนาจะมีองค์กรอบรมพัฒนาเป็นที่ยอมรับเกิดขึ้นในกระทรวง และมีหลักสูตรการอบรมพัฒนาที่หลากหลายอย่างน้อย ๕ ส่วน คือ -หลักสูตรพัฒนาผู้บริหารการศึกษาระดับสูงของ ศธ. -กระบวนการเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งครูทดลองงาน ๒ ปี -หลักสูตรการเลื่อนวิทยฐานะ -หลักสูตรการต่อใบอนุญาตวิชาชีพ -หลักสูตรการอบรมพัฒนาตามนโยบาย โดยหน่วยงานปฏิบัติการจะใช้ สคบศ.เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองในการก่อสร้างใหม่ แต่ สคบศ.จะต้องได้รับการปรับปรุงขนานใหญ่ให้เป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับในระดับประเทศอย่างแท้จริง และจะมีนักวิชาการที่เชื่อถือได้มาบริหารหลักสูตร เพื่อให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆ ในอนาคตมีศักยภาพ และกฎเกณฑ์ต่างๆ ชัดเจนขึ้น ๒๐) การส่งเสริมการอ่าน ครม.ได้กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ โดยกำหนดให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นวันรักการอ่าน และให้ปี ๒๕๕๒-๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศ ซึ่ง ผอ.สพท.ต้องศึกษาและดำเนินการตาม ๓ แผนยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมการอ่าน คือ ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนไทยให้มีความสามารถด้านการอ่าน การสร้างนิสัยรักการอ่าน และการสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการอ่าน ๒๑) กศน.ตำบล ขณะนี้ได้ยกระดับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเป็น กศน.ตำบล โดยต่อไปนี้ กศน.ตำบลจะมีคอมพิวเตอร์ ๖ ชุดให้บริการในการศึกษาเรียนรู้แก่ประชาชนในตำบล และจะเป็นทัพหน้าของ ศธ.ในระดับตำบล เพื่อผลักดันการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ควบคู่ไปกับโรงเรียนดีประจำตำบล เพราะฉะนั้นใน ๑ ตำบลจะมีองค์กรเรียนรู้ตลอดชีวิตครบถ้วนทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ ๒๒) ห้องสมุด ๓ ดีสัญจร จะมีการจัดหารถ Mobile ไปจอดในหมู่บ้านชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมการอ่าน ส่วนในบางพื้นที่อาจจำเป็นต้องใช้เรือแทนรถยนต์ โดยในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๕๓ จะเปิดโครงการเรือห้องสมุด ๓ ดีสัญจร เพื่อให้เห็นกระบวนการต่างๆ ในการส่งเสริมการอ่านอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ๒๓) การปรับสัดส่วนจำนวนคอมพิวเตอร์ต่อนักเรียน จากเดิมที่มีอัตราส่วนคอมพิวเตอร์ ๑ เครื่อง ต่อนักเรียน ๔๐ คน แต่ในปี ๒๕๕๓ จะปรับลดให้เหลืออัตราส่วน ๑:๑๐ และขอให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของสถานศึกษาให้เป็นไปด้วยความถูกต้อง โปร่งใส ได้คอมพิวเตอร์ที่มีคุณภาพ รวมทั้งการดูแลบริการหลังการขายที่ดีด้วย ๒๔) งาน ก.ค.ศ. ต่อไปนี้ระบบงานของ ก.ค.ศ.หรือคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาจะรวดเร็วและทำงานเชิงรุกมากขึ้น กฎระเบียบใดที่ล้าหลังจะต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข ต่อไปนี้งานของ ก.ค.ศ.เป็นงานบริหารงานบุคคลของ สพฐ.เป็นหลัก เพราะในระดับอาชีวศึกษามีระบบบริหารงานบุคคลเอง การทำงานเชิงรุกของ ก.ค.ศ. เพื่อไม่ให้งานเรื่องวินัยใช้เวลานานเกินไป เพราะอาจทำให้คนดีๆ หมดกำลังใจ ดังนั้นจึงต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว เพื่อคนไม่ดีจะได้ไม่ลอยนวล ทั้งยังส่งเสริมให้คนดีมีกำลังใจทำงานมากขึ้น ๒๕) การพัฒนาการศึกษาชายแดนภาคใต้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นมาเป็นการเฉพาะ ตั้งแต่วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ โดยมีนายนิวัตร นาคะเวช รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อให้การทำงานขององค์กรหลักเดินหน้าร่วมกันอย่างมีเอกภาพและมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านบริหารการจัดการ การบริหารส่วนบุคคล การบริหารงบประมาณ และการบริหารส่วนวิชาการ รมว.ศธ.กล่าวด้วยว่า ในปี ๒๕๕๓ จะเน้นการตรวจราชการในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น จึงขอฝากทั้ง ๒๕ โครงการดังกล่าวให้เขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาช่วยกันทำงานให้มีประสิทธิภาพ ประสบผลสำเร็จเหมือนโครงการเรียนฟรี ๑๕ ปีอย่างมีคุณภาพ ที่ได้รับการสำรวจจากประชาชนทั่วประเทศให้เป็นผลงานยอดเยี่ยมของรัฐบาล และเป็นผลงานที่ประชาชนชื่นชอบมากที่สุดในรอบ ๑ ปี ซึ่งต้องขอขอบคุณ ผอ.สพท. ผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งบุคลากรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่าน ที่ได้ร่วมกันดำเนินการโครงการดังกล่าวจนประสบความสำเร็จ ไม่ใช่เป็นผลงานของคนใดคนหนึ่ง.

1 ความคิดเห็น:

  1. น่าจะเป็นแนวข้อสอบภาคบ่ายของหลายๆเขตพื้นที่การศึกษา ในปี 2553

    ตอบลบ